ธีรภัทธ์ ใจสมุทร์
แกนนำเยาวชน active citizen จ.สตูล
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

เยาวชนเด่น โครงการยาสมุนไพรจากป่าชายเลนกับระบบสุขภาพของคนในชุมชนบ้านท่าน้ำเค็มใต้  ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล


ชื่อเรื่อง ตาม ก๊อต - ธีรภัทธ์ ใจสมุทร์ ไปช้อปร้านยาในป่าชายเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้


เชื่อหรือไม่ว่า...คนไทยเสียชีวิตจากโรคเบาหวานมากถึง 200 รายต่อวัน!!

เบาหวานเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs: noncommuni-cable diseases) แต่ร้ายแรง

เรารู้จักโรคเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน?

กลุ่มโรค NCDs ประกอบด้วย โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็ง เป็นต้น เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรค และไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน โดยการสัมผัสหรือการหายใจ แต่เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม

ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เปิดเผยสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 5 ล้านคน สัดส่วนเปรียบเทียบแสดงให้เห็นว่า 1 ใน 11 คนไทยของที่อายุ 15 ปีขึ้นไปกำลังป่วยด้วยโรคเบาหวานและมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคนต่อปี โดยในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 40 ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ในภาวะปัจจุบัน กลุ่มคนวัยทำงานป่วยเป็นโรค NCDs เพิ่มมากขึ้น และพบในคนอายุน้อยลง โดยสัดส่วนการตายก่อนวัยอันควรจากโรคติดต่อเรื้อรังสูงเกินร้อยละ 50

สถิติพบผู้ป่วยอายุน้อยลงร่นลงมาถึงวัย 15 ปี ช่วงวัยแรกรุ่นที่ไม่น่าได้รับผลกระทบจากโรคเหล่านี้ ดังนั้นโรคไม่ติดต่อร้ายแรงซึ่งเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของผู้คนอย่างช้าๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

ที่บ้านท่าน้ำเค็มใต้ ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เยาวชนกลุ่มหนึ่งมองเห็นผลกระทบของโรคภัยใกล้ตัวเหล่านี้ จึงได้ริเริ่ม โครงการยาสมุนไพรจากป่าชายเลนกับระบบสุขภาพของคนในชุมชนบ้านท่าน้ำเค็มใต้ ศึกษา ค้นคว้า เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติผู้ป่วยในชุมชน ไปพร้อมๆ กับการสืบค้นภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับสรรพคุณของพืชสมุนไพรพื้นบ้าน โดยเฉพาะการนำพืชพรรณไม้ในป่าชายเลนมาทำยา ก๊อต - ธีรภัทธ์ ใจสมุทร์ ในฐานะประธานกลุ่มเยาวชน บอกว่า สิ่งที่พวกเขาทำไม่เพียงทำให้คนในชุมชนและตัวพวกเขาเองเห็นคุณค่าของทรัพยากรพื้นถิ่น แต่ยังสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพให้ขยายวงกว้างออกไปในชุมชน


มองไปไม่ไกลบ้าน

ก๊อตเป็นเด็กท่าน้ำเค็มใต้ที่ออกไปเรียนในโรงเรียนนอกพื้นที่ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปกลับจากบ้านไปโรงเรียนเป็นระยะทางรวมประมาณ 50 กิโลเมตร หลังเลิกเรียนยังต้องแบ่งเวลาซ้อมฟุตบอลเพราะเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมฟุตบอลอำเภอท่าแพ ซึ่งต้องเข้าร่วมแข่งขันลีกฟุตบอลระดับอำเภอ ก๊อต บอกว่า เขาไม่มีเวลาได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ในชุมชน จากเพื่อนสนิทกันจึงได้แค่ยิ้มให้กันอยู่ไกลๆ ไม่เคยได้พูดคุยกัน แต่รู้ความเคลื่อนไหวของกันและกันผ่านโซเชียลมีเดีย

“ผมรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะไม่สนิทกับใครในหมู่บ้านเลย”

เมื่อเพื่อนเก่าตั้งแต่สมัยประถมเอ่ยปากชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนโดยการมีส่วนร่วมของเยาวชนและคนในชุมชน ก๊อตจึงไม่ปฏิเสธแม้กิจกรรมที่เข้าร่วมเป็นกิจกรรมท้ายๆ ของโครงการ

“ผมเห็นว่าโครงการที่ทำเป็นโครงการในชุมชน ตอนนั้นผมอยากมีส่วนร่วมกับชุมชนมากขึ้นเพราะไปเรียนต่างอำเภอ ไม่ค่อยมีโอกาสได้พบปะกับเพื่อนๆ เลยถือโอกาสนี้ได้พบเพื่อนและทำกิจกรรมร่วมกัน รู้อยู่แล้วว่าเพื่อนทำโครงการในหมู่บ้าน พอเพื่อนชวนดูน่าสนุกก็เลยสนใจอยากทำบ้าง” ก๊อต เล่าถึงที่มาที่ไปก่อนเข้ามาเป็นกำลังสำคัญของกลุ่มเยาวชนบ้านน้ำเค็มใต้ ที่สานต่อโครงการยาสมุนไพรจากป่าชายเลนกับระบบสุขภาพของคนในชุมชนบ้านท่าน้ำเค็มใต้ ในปีที่สอง

“ในหมู่บ้านมีอะไรอยู่บ้าง” พิเชษฐ์ เบญจมาศ ผู้ประสานงาน Satun Active Citizen เอ่ยถามขึ้น

“ป่าชายเลน” ก๊อต ตอบ

“มีโรคเบาหวาน ความดัน” เพื่อนบางคน เอ่ยขึ้น

“ป่าชายเลนทำอะไรได้อีกบ้าง” บังเชษฐ์ ถามต่อ ซึ่งเป็นคำถามที่นำไปสู่การตั้งโจทย์โครงการในปีที่ 2

“จากคำตอบที่พวกเราพูดกันมา ผมหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตพบว่ามีสมุนไพรในป่าชายเลนของเราที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ มีสมุนไพรตัวหนึ่งที่ช่วยรักษา บรรเทาอาการของโรคเบาหวาน ความดัน เลยคุยกันในกลุ่มว่าทำโครงการเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรในป่าชายเลน” ก๊อต เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ


ร้านยาในป่าชายเลน

"พันธุ์ไม้ในป่าชายเลน" เป็นคีย์เวิร์ดที่ก๊อตใช้ค้นหาข้อมูลจากกูเกิ้ล

เป้าหมายของโครงการยาสมุนไพรจากป่าชายเลนฯกลุ่มเยาวชนตั้งใจศึกษาค้นคว้า เก็บข้อมูลสรรพคุณทางยาของพรรณไม้ในป่าชายเลน เพื่อเก็บบันทึกเป็นองค์ความรู้ รวมทั้งแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกในการป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้กับคนในชุมชน

ก๊อตได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม เขาเล่าว่าสมาชิกประมาณ 30 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเยาวชนในหมู่บ้าน นอกจากก๊อตแล้วเพื่อนคนอื่นๆ เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน จึงชักชวนกันมาทำกิจกรรมได้ง่าย

“วันนั้นนัดกันมาประมาณ 30 กว่าคนแล้ว เป็นวันที่ต้องเลือกประธานกลุ่ม ตอนแรกไม่มีใครยกมือรับหน้าที่ ถ้าผมไม่ยกก็ไม่มีใครกล้ายก ผมอยากเป็นผู้นำของเพื่อนๆ เพราะผมอยากทำโครงการอย่างจริงจัง เลยยกมืออาสาแล้วมีเพื่อนอีกคนยกด้วย บังเชษฐ์ให้เพื่อนทุกๆ คนโหวตประธาน เพื่อนคงเห็นว่าผมกล้ายกมือ กล้าที่จะทำจริงๆ เลยเลือกผมเป็นประธาน”

หน้าที่ของประธานกลุ่มต้องจัดการบริหารงานและบริหารเวลา ติดตามงานที่มอบหมายเพื่อให้ดำเนินโครงการได้ตามแผน ก๊อต บอกว่า เขาไม่ได้ทำหน้าที่แค่สั่งงานแต่ร่วมลงมือทำงานกับเพื่อนๆ ด้วย

“พวกเราพริ้นภาพพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนราว 30 ภาพ ข้อมูลลักษณะของพันธุ์ไม้ และสรรพคุณ ก่อนเข้าไปสำรวจในพื้นที่จริง ก่อนนี้ผมมองป่าชายเลนเป็นเรื่องปกติอย่างหนึ่ง ไม่ได้นึกถึงความพิเศษ รู้ว่ามีป่าชายเลยในหมู่บ้านแต่ไม่เคยไปดู ผมไม่รู้จักพันธุ์ไม้ชนิดไหนเลย ที่ต้องพริ้นภาพไปก็เพื่อดูว่าพันธุ์ไม้ที่เจอตรงกับที่พริ้นมาไหม ถ้าตรงกัน ตรงกันอย่างไรบ้าง มีรูปมีข้อมูลติดตัวไปจะได้เอามาเทียบลักษณะเพื่อดูว่าชนิดไหนเป็นพืชสมุนไพร ชนิดไหนไม่ใช่”

จากข้อมูลและภาพ 30 พันธุ์ไม้ป่าชายเลนทั่วไปซึ่งค้นหามาจากกูเกิ้ล กลุ่มเยาวชนพบพันธุ์ไม้ 18 ชนิดในพื้นที่ป่าชายเลนบ้านท่าน้ำเค็มที่ตรงกับลักษณะพันธุ์ในภาพ

5 ใน 18 ชนิด มีสรรพคุณทางยา และมี 1 ชนิดที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้

เพื่อยืนยันความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงของคนในชุมชนบ้านน้ำเค็มใต้ กลุ่มแกนนำเยาวชนตรวจสอบสถิติผู้ป่วยจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พบผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ราว 3 ร้อยคน จากจำนวนประชากรประมาณ 1,100 คน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ซึ่งถือว่าไม่น้อย

“แม่ผม แม่ของเพื่อน และพี่เลี้ยงโครงการ เป็น อสม. อยู่แล้ว พวกเราเลยไปถามข้อมูลขอยอดสถิติผู้ป่วยมา อสม. ลงพื้นที่ดูแลคนในชุมชนเดือนละครั้ง เพราะฉะนั้นการถามข้อมูลผู้ป่วยในชุมชนจาก อสม. ถือเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้และชัดเจนที่สุด”

กลุ่มแกนนำเยาวชนได้บันทึกข้อมูลทางยาของสมุนไพรทั้ง 5 ชนิดจากป่าชายเลน เทียบเคียงกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชน สรุปเป็นคู่มือการเรียนรู้พืชสมุนไพรป่าชายเลนบ้านท่าน้ำเค็มใต้ที่สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้ หลังจากนั้นจึงโฟกัสไปที่การนำ “ใบขลู่” พืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการโรคเบาหวานกับความดันความดันโลหิตสูง มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาใบขลู่ แล้วต่อยอดไปสู่การทำสบู่จากใบขลู่


จากป่า (ชายเลน) สู่ถ้วยชาร้อนๆ

“ขลู่” จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาขึ้นเป็นกอ เป็นพรรณไม้ที่ชอบดินเค็ม บริเวณที่น้ำขังหรือที่ลุ่มชื้นแฉะตามริมห้วยหนอง หาดทราย หรือป่าชายเลน สรรพคุณทางยาของใบขลู่มีหลายอย่าง เช่น บรรเทาอาการโรคเบาหวาน ลดความดันโลหิต แก้ท้องอืด ขับลม เส้นตึง ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน บอกว่า หากกินทุเรียนแล้วกินชาใบขลู่ตามเข้าไปจะช่วยป้องกันไม่ให้เกินอาการร้อนใน

กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ชาใบขลู่ที่ขายในราคา 10 ซอง 39 บาท ก๊อต เล่าว่า พวกเขาต้องลองผิดลองถูกปรับเปลี่ยนวิธีการอยู่หลายครั้ง เริ่มจากการหัดแปรรูปตามคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ในยูทูปแต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งได้ไปศึกษาดูงานการผลิตชาใบขลู่ที่อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล แล้วกลับมาทดลองทำจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “เยาวชนคนรักท่าแพ” ก๊อตย้ำว่าชาที่แปรรูปขึ้นมาไม่ใช่ยารักษาโรค แต่มีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งช่วยบรรเทาอาการโรคเบาหวานได้

“ทำไปทิ้งไปบ้าง แรกๆ ทำแล้วคิดว่าแห้งดีแล้ว แต่พอเอาไปใส่ในกระปุก เช้ามามันมีความชื้นอยู่เลยต้องมาดูวิธีการคั่ว การนึ่ง การตากแดดใหม่ หลังจากไปดูงานเราได้ความรู้ชัดเจนเกี่ยวกับการทำชาใบขลู่มากขึ้น ตอนแรกๆ กลับมาทำ เราก็ยังทำกันไม่ค่อยได้เพราะไม่ชำนาญ แต่ก็ลองปรับเปลี่ยนจนทำออกมาได้สำเร็จ”

หม้อนึ่ง กระทะใบใหญ่ และตะกร้า เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการแปรรูปชาใบขลู่ ก๊อต บอกว่า ขั้นตอนการทำทั้งหมดใช้เวลา 2 วัน ขั้นแรกนำใบขลู่มาเด็ด ล้างน้ำ แล้วนำไปตากให้แห้ง เสร็จแล้วเอามานึ่งประมาณ 5-10 นาที นำไปตากในตะกร้า กระจายให้ใบแยกกัน รอจนสะเด็ดน้ำ หลังจากนั้นเอาไปคั่วให้น้ำในใบแห้ง สังเกตลักษณะใบขณะคั่วจะมีความกรอบ เมื่อคั่วได้ที่แล้วจึงนำไปตากแดดอีกครั้ง พอใบแห้งสนิทนำใส่บรรจุภัณฑ์แล้วสามารถนำไปชงเป็นชาร้อนๆ ดื่มได้

“วันที่ทำงานจะนัดกันมาตั้งแต่เช้า บางทีทำจนดึกเลยครับ นอกจากขายแล้ว พวกเราได้นำชาไปแจกให้คนที่เป็นเบาหวาน บางคนก็ขอซื้อ ส่วนสบู่ช่วยขัดผิวได้ ผมนำมาทดลองใช้แล้วขัดผิวได้จริง ตอนแรกดูวิธีการทำจากในยูทูปเหมือนกัน ต่อมาแฟนบังเชษฐ์ไปเรียนทำสบู่เลยมาช่วยเป็นวิทยากรในการทำสบู่ให้พวกเราด้วย”

“ช่วงแรกผมเองยังคิดว่าพวกเราคงทำกันไม่ได้ เพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่พอลงมือทำแล้ว ความผิดพลาดทำให้เราพัฒนาไปเรื่อยๆ จนทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้จริง เมื่อได้เรียนรู้ ได้ทำจนเป็นแล้วมันก็ง่ายขึ้น” ก๊อต สะท้อนถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นขณะทำโครงการ


เปลี่ยนไปเมื่อได้เปลี่ยนแปลง

ในฐานะประธานกลุ่มมือใหม่ ก๊อต เล่าว่า ตัวเขาเองก็ต้องค่อยๆ ปรับตัว เปลี่ยนตัวเองไปจากเดิม จากคนที่มีโลกส่วนตัวสูงไม่ค่อยชอบพูดจากับคนแปลกหน้า มาเป็นคนที่กล้าพูดกล้าเจรจา เขาพบว่าแท้จริงแล้วสาเหตุที่ทำให้เขาเป็นคนไม่กล้าแสดงออก เป็นเพราะความขี้อายและความกลัว

“คนอื่นมักคิดว่าผมหยิ่ง แต่จริงๆ คือ ผมไม่กล้าคุยด้วย แต่เดี๋ยวนี้บุคลิกเปลี่ยนไป ผมยิ้มแย้มมากขึ้น ผมได้สนิทกับเพื่อนมากขึ้น เพราะตั้งแต่จบ ป.6 ก็แทบไม่ค่อยได้เจอหน้าเพื่อนเก่าเลย ถ้าเจอก็ได้แต่ยิ้ม แต่ไม่เคยคุยกัน พอได้มาคลุกคลีในชุมชน ผมได้ความสนิทกับเพื่อนตอนประถมกลับมาเหมือนเดิม”

นอกจากนี้ ก๊อตยังได้เรียนรู้ภาะวะความเป็นผู้นำและการจัดการกับอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น

“กระบวนการทำโครงการทำให้ได้เรียนรู้ว่าต้องจัดการกับงานอย่างไร วางแผนกับมันอย่างไร และนำไปปรับใช้ในงานกลุ่มที่โรงเรียน รวมถึงการเป็นผู้นำ ผมเรียนรู้ว่าเราต้องรับฟังความคิดเห็นสมาชิกในทีม เวลาเสนออะไรไป ผมถามทุกคนว่าโอเคไหม ทำได้ไหม ต้องถามกันก่อนครับ ถ้าทำไม่ได้ก็หาวิธีการทำใหม่ ต้องให้โอเคกันทุกฝ่ายถึงจะไปกันได้”

“ข้อดีของกลุ่มเรา คือ ทุกคนรับฟังความคิดเห็นของแต่ละคน แล้วยอมรับกันได้ ถ้าความคิดเห็นแตกต่างกัน เราจะเลือกว่าวิธีไหนเราทำได้แล้วดีที่สุดแล้วเลือกใช้วิธีนั้น ผมว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไปมาก กล้าแสดงออก กล้าพบผู้คน กล้าคุยมากขึ้น กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทาย เมื่อก่อนถ้าให้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ผมคงหนี แต่ตอนนี้เห็นปัญหาแล้วอยากเผชิญหน้า เพราะเราได้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เห็นปัญหาแล้วเราสามารถแก้ไขมันได้ ผมเลยไม่กลัวการเผชิญปัญหา เพราะรู้ว่าจะผ่านพ้นไปได้”

นอกจากนี้ วินัยและความขยัน เป็นสิ่งที่ก๊อตอยากพัฒนาให้เกิดขึ้นกับตัวเอง เขามองว่าทั้งสองอย่างเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ ทั้งการเรียน การงานและการใช้ชีวิต

“ถ้ามีวินัยอยากทำอะไรเราก็ทำได้ เช่น การซ้อมฟุตบอล ถ้ามีวินัยในการซ้อม ไม่อู้ ซ้อมเต็มที่ ผลลัพธ์ก็ได้กับตัวเรา การอ่านหนังสือสอบ ถ้ามีวินัยในการอ่าน ขยันเตรียมตัว ผลก็จะออกมาดี แต่ถ้าเราไม่มีวินัยอ่านหนังสือ ผลอาจไม่ได้อย่างที่หวัง ผมนำมาเรื่องนี้มาใช้จัดตารางอ่านหนังสือ เพราะผมกำลังเตรียมตัวสอบเข้าโรงเรียนนายสิบตำรวจ วางแผนแล้วก็ต้องมีวินัยทำตามแผนที่วางไว้”

จากประสบการณ์ทำโครงการที่ได้คลุกคลีกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ก๊อต บอกว่า สิ่งที่อยากทำต่อไปในอนาคต คือ การสานต่อโครงการที่ทำไปแล้ว ด้วยการอยากเขียนป้ายพันธุ์ไม้ บอกชื่อและสรรพคุณไปติดไว้ตามต้นไม้ในป่าชายเลน

“คนในชุมชนบางคนก็ไม่รู้ว่าต้นไม้แต่ละชนิดมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ถ้าเขาได้เห็นว่าพืชเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเขา เขาก็จะไม่ทำลาย ช่วยรักษา เห็นคุณค่ามันเหมือนที่เราเห็น”

“เมื่อก่อนแค่รู้ว่าเป็นป่าชายเลนก็เฉยๆ แต่พอได้มาศึกษา ได้รู้ว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง เราเห็นคุณค่าของมัน อยากปกป้องรักษาให้อยู่กับหมู่บ้านไปนานๆ เดี๋ยวนี้ผมอยากรู้อยากเห็นว่าพันธุ์ไม้ต่างๆ ทำอะไรได้บ้าง มีสรรพคุณอย่างไรบ้าง ผมรู้สึกว่าป่าชายเลนเป็นของเรา เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ป่าชายเลนเป็นที่ทำมาหากิน ตรงนั้นเป็นท่าเรือของหมู่บ้าน ถ้าป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ก็มีสัตว์น้ำ มีสมุนไพรนานาชนิด ป่าชายเลนมีคุณค่ากับหมู่บ้านของเรามาก มันทำให้ผมมองเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติที่อยู่ในชุมชนเรามีประโยชน์ต่างกันและมีคุณค่าทั้งหมดเลย” ก๊อต กล่าวอย่างแน่วแน่

//////////////////////